AAT LEARNING & TRAINING

เกษตรกรญี่ปุ่น

 รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นส่งเสริมเกษตรกรอย่างไรจนเกษตรกรรวย มีเงินเก็บเหลือใช้ ไปเที่ยวยุโรปทุกปี!


เกนย่า(ขวา) และฟุคิ(ซ้าย) ทั้งสองเป็นคู่รักเกษตรกรวัย 28 ปี อยู่เมืองนิเซโกะ, ฮอกไกโด, ประเทศญี่ปุ่น


ทั้งคู่มักเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อิตาลี อเมริกา เดนมาร์ก เยอรมัน ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศทั่วโลก 


แน่นอนว่าการไปเที่ยวแต่ละครั้งใช้เงินไม่น้อย หลายคนอาจคิดว่า ทั้งสองน่าจะรวยอยู่แล้ว แต่จริงๆ ทั้งคู่ใช้เงินเก็บที่ได้จากการทำฟาร์มไปเที่ยว!


มินถามเกนย่าและฟุคิว่า “คุณคิดว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ได้เงินดีและรวยไหม?”

ทั้งคู่พยักหน้าพร้อมกันอย่างแรง แล้วบอกว่า

 “ใช่ เงินดีมาก”


10 วันที่มินอยู่กับทั้งสองคนนี้ 

มินได้เรียนรู้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของเมืองนิเซโกะ 

สนับสนุนเกษตรกรหลายด้าน 


1. หลักสูตรมัธยมปลายที่เมืองนิเซโกะ เน้นสอนให้เด็กทำเกษตร ที่โรงเรียนมีโรงเพาะปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งเด็ก ๆ ทุกคนต้องลงมือปลูกผักตั้งแต่เพาะเมล็ด ไปจนถึงทำ Packaging และ Marketing เอง 

เกนย่าบอกว่า ตอนเรียนเกษตรที่โรงเรียน เขารู้สึกสนุกและชอบมาก และมีความฝันอยากเป็นเกษตรกรตั้งแต่ตอนนั้นเลย


2. ถ้าใครเพิ่งเริ่มเป็นเกษตรกรครั้งแรก 

รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า 5 ล้านเยน (หรือประมาณ 1.3 ล้านบาท) 

โดยไม่ต้องเดินเรื่องทำเอกสารอะไรมากมาย มีเอกสารให้เซ็นแค่ 3 หน้า และระหว่างที่รับทุนก็ให้ทำบันทึกไดอารี่การทำงานในแต่ละวันเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ต้องนั่งทำ Report ให้วุ่นวาย


3. มีทุนให้เรียน Business School ฟรี 

ซึ่งไม่ได้เรียนแค่วันเดียว เชิญคนใหญ่คนโตมาเปิดพิธีแค่แป้บเดียว ถ่ายรูป จบ กลับบ้าน เหมือนบางประเทศ 


เขาเรียนกันแบบจริงจังมาก เกนย่าต้องไปเรียน Business ทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 5 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม ระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน 

ซึ่งสอนตั้งแต่การทำการตลาด การออกแบบ Packaging การจัดการการเงิน การจัดการภาษี เป็นต้น รวมไปถึงเชิญ local business ที่ประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนความรู้ และ Workshop เพื่อให้เกษตรกรเปลี่ยนผลผลิตการเกษตรของตนเอง ให้เป็นสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้


4. รัฐบาลสร้าง “Supermarket เกษตรกร” ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อันนี้สำหรับมิน คือโคตรดีเลย! 


ซุปเปอร์นี้ จะเป็นที่ที่เกษตรกรจะนำผักผลไม้มาขาย 

โดยเกษตรกร “กำหนดราคาเองทั้งหมด” 

เกษตรกรจะแพ็คสินค้า และไปขอสติ้กเกอร์บาร์โค้ดจากแคชเชียร์ เช่น วันนี้เกนย่า อยากขายหัวหอมแพ็คละ 300 เยน จำนวน 100 แพ็ค / 

เกนย่าก็เดินไปกรอกข้อมูลที่แคชเชียร์ และจะได้สติกเกอร์บาร์โค้ดมา 100 ชิ้น / 

เกนย่านำสติกเกอร์ราคาไปแปะที่หัวหอม จากนั้นเกนย่าก็กลับบ้าน ไปทำงานฟาร์มต่อได้ โดยไม่ต้องเสียเวลายืนขายในร้าน 

เพราะรัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบค่าจัดการร้าน โดยจ้างพนักงานแคชเชียร์มาขายสินค้าให้ 


รายได้ทั้งหมด 100% เข้ากระเป๋าเกนย่า โดยได้ราคาที่ดีและไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

(ภาพประกอบร้านในคอมเม้นท์)


5. “วัฒนธรรมที่ไว้ใจกันและกัน” 

เกนย่านำผักผลไม้ ไปตั้งขายตามจุดที่คนเดินพลุกพล่าน เช่น สถานีรถไฟ และนำกล่องใส่เงินที่ทำจาก “กระดาษ” ตั้งทิ้งไว้ 

เวลาที่คนซื้อผัก ก็หยอดเงินในกล่องกระดาษนั้น 


ตอนเราเห็นครั้งแรก เราตกใจมาก ถามเกนย่าว่า 

“ไม่กลัวคนขโมยเงินหรอ?” 

เกนย่าส่ายหัว และตอบว่า 

“ทำไมต้องกลัว…ไม่มีใครขโมยหรอก”


6. รัฐบาลทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฟาร์มต่างๆในเมือง จัดทำเป็นนิตยสารแจกตามสถานีรถไฟ มีเพจที่ทำคอนเท้นท์เกี่ยวกับเกษตรกรในฟาร์มต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถตามไปเที่ยวที่ฟาร์มได้


7. เกษตรกรญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่จ้างคนงาน พวกเขาลงมือทำเองทั้งหมดทุกขั้นตอน เพราะค่าจ้างแรงงานแพง บวกกับความขยันของคนญี่ปุ่นที่ทำงานอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นรายได้จากการทำเกษตรจะเข้ากระเป๋าเกษตรกรเต็มๆ โดยไม่ต้องเสียเงินจ้างคนงานเลย


8. “วางแผนการทำเกษตรล่วงหน้าเป็นปี” 

เกษตรกรทุกบ้านจะมีปฏิทินการทำงานรายปี 

วันนี้ต้องทำอะไร พรุ่งนี้ทำอะไร อาทิตย์หน้าจะปลูกอะไร เดือนไหนต้องเตรียมอะไร 

พวกเขาวางแผนล่วงหน้าเป็นปี 

มี timeline การทำงานที่ชัดเจน ตั้ง Output ไว้ชัดเจน และทำงานตาม Timeline อย่างเคร่งครัด 

เมื่อมีการวางแผนล่วงหน้าที่ชัดเจน ก็จัดการเวลาชีวิตได้ง่ายขึ้น


9. “ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด” 

เนื่องจากเกษตรกรที่นี่ต้องทำงานแข่งกับฤดูกาล 

ช่วงฤดูหนาว หิมะตกหนัก พวกเขาไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย ในฤดูอื่นๆ จึงต้องทำงานทุกวัน 

แล้วใช้เวลา 3 เดือนช่วงฤดูหนาว ในการพักผ่อน หรือไปเที่ยวต่างประเทศนานๆ 


เกนย่าและฟุคิ เป็นเกษตรกรหนุ่มสาวที่มีความสุขมาก ๆ พวกเขาภูมิใจกับการเป็นเกษตรกร 

มีเงินเก็บเหลือใช้ 

มีเวลา มีเงินเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี 


แล้วไม่ใช่แค่คู่นี้ที่เป็นเกษตรกรวัยหนุ่มสาว เพื่อนเกนย่า และเกษตรกรอีกหลายคนในเมืองนี้ ล้วนอายุไม่เกิน 30 ปี ทั้งนั้นเลย


เกนย่าบอกว่า ผู้สูงอายุที่เมืองนี้ไม่ทำเกษตรกรกันแล้ว หลายคนเกษียณและพักผ่อนกัน มีแต่หนุ่มๆ สาวๆ นี่แหละ ที่เป็นเกษตรกร


ฟังแล้วหัวใจพองฟู💗


ตัดภาพมาที่ไทย แค่คิดว่าจะเริ่มเป็นเกษตรกร ก็มีแต่หนทางให้ต่อสู้เต็มไปหมด


ปล. ใครสนใจอยากเจอฟุคิและเกนย่า สามารถไปเจอพวกเขาได้ที่ร้านอาหาร ซึ่งใช้ผักออกานิกจากฟาร์มมาทำอาหาร

ใช่แล้ว พวกเขาไม่ได้แค่ทำฟาร์มอย่างเดียว แต่นำผักที่หน้าตาไม่สวย ขายไม่ได้ มาแปรรูปเป็นอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดของเสีย แถมอาหารอร่อยมากกกกกก


ร้านชื่อ Chisegarden เปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ เพราะวันจันทร์-ศุกร์ เกนย่าต้องทำฟาร์ม

ร้านนี้ตั้งอยู่ในบ้านของเกนย่าเลย 


เปิดทุกฤดู ยกเว้นฤดูหนาว (ปิดเดือนพฤศจิกายน-มกราคม)  

เชฟหลักคือคุณพ่อของเกนย่า ซึ่งเคยเป็นเชฟอยู่บนเรือสำราญมานานหลายสิบปี


พิกัด https://maps.google.com?q=Niseco%20Chise%20Garden.,%20817%20Kondo,%20Niseko,%20Abuta%20District,%20Hokkaido%20048-1542&ftid=0x5f0aadebae9d2263:0xa4c5f78a9ac22478&hl=en-TH&gl=th&entry=gps&lucs=,47071704